--------------------------------------------------------------------------------------------------
----------------------------
Fulbright ทุนฟุลไบรท์ : http://www.fulbrightthai.org/
ชื่อ “ฟุลไบรท์” นั้น มาจากชื่อของท่านวุฒิสมาชิก เจ วิลเลียม ฟุลไบรท์ (พ.ศ. 2448 - 2538) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ท่านวุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เติบโตและได้รับการศึกษาในรัฐอาร์คันซอส์ ผู้ซึ่งไม่เคยได้มีโอกาสเห็นเมืองใหญ่ๆ ของประเทศก่อนที่จะได้รับทุน Rhodes Scholarship ในปี 2468 เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ประสบการณ์ในการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด 3 ปี และการเดินทางไปในยุโรปทำให้วุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เชื่อมั่นถึงความสำคัญของการมองโลกจากมุมมองของคนนานาประเทศ จากความฝังใจในเรื่องนี้นี่เอง เมื่อเป็นวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตของรัฐอาร์คันซอส์ในสมัยแรกท่านจึงได้ผลักดันกฎหมายให้มีการสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนโดยอาศัยงบที่ได้จากการขายอุปกรณ์ที่เหลืออยู่ของสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายดังกล่าวลงนามโดยประธานาธิบดีทรูแมน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2489 หลังจากนั้นได้มีกฎหมายฉบับหลังสุดของโครงการแลกเปลี่ยนฟุลไบรท์ภายใต้พระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรม ปี 2504 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ Fulbright - Hays Act
จนถึงปัจจุบันโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของฟุลไบรท์ได้ให้โอกาสนักวิชาการ ครูอาจารย์ และนักศึกษาจำนวนกว่า 250,000 คน จากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ในอีกประมาณ 150 ประเทศทั่วโลก แลกเปลี่ยนวิชาการและวัฒนธรรม
ไทยเป็นประเทศหนึ่งในบรรดา 50 กว่าประเทศทั่วโลกที่มีความร่วมมือในลักษณะการร่วมรับค่าใช้จ่ายในการให้ทุนฟุลไบรท์ โดยได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ซึ่งแสดงถึง “ความเป็นคู่ความร่วมมือของสองชาติ” (Binationalism)
ทุกปีรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลไทยจึงได้มีการอุดหนุนงบประมาณเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้งบประมาณแก่มูลนิธิฯ ทุกปี จนปัจจุบันให้งบสนับสนุนจำนวนประมาณ 745,000 เหรียญสหรัฐต่อปี รัฐบาลไทยสมทบค่าใช้จ่ายในรูปของเงินสนับสนุนจำนวน 2 ล้านบาทให้มูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ.2532 และเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังให้กู้เงินเพื่อซื้อสำนักงานที่ตั้งของมูลนิธิฯ ในปัจจุบัน จำนวน 3 ล้านบาท และให้งบในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในรูปของเงิน และไม่ใช่เงิน เช่น งบสมทบค่าเรียน ค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก เป็นต้น
จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้ให้ทุนแก่ชาวไทย เพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก ไปสอน วิจัย และอบรมดูงาน รวมกว่า 1,400 ทุน และมีชาวอเมริกันได้รับทุนมากกว่า 400 ทุน
ทุนฟุลไบรท์แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ด้วยกัน คือ
-
ทุนศึกษาต่อปริญญาโท (Open Competition Program) รับสมัครในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ในแต่ละปีให้ประมาณ 6-8 ทุน เปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปได้ศึกษาต่อปริญญาโทที่อเมริกาในสาขาที่ต้องการ ยกเว้นสาขาแพทย์เภสัชศาสตร์ พยาบาล สาธารณสุข หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ ผู้มีสิทธิ์สมัครต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป และต้องมีคะแนน TOEFL ไม่ต่ำกว่า 213 ด้วยการสอบระบบคอมพิวเตอร์ หรือ 80 ขึ้น สำหรับการสอบในระบบ iBT (Internet Base TOEFL) มีข้อแม้ว่าหากค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่าทุนที่จัดสรรให้อาจจะต้องสมทบทุนส่วนตัวบางส่วน โดยเงินทุนเพื่อการศึกษาที่มอบให้เป็นจำนวนเงิน 30,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐสามารถกรอกใบสมัครได้ทางเว็บไซต์และส่งเอกสารมาได้ตามที่อยู่ด้านล่าง
-
ทุนพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัย (University Staff Development Program) สำนรับอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทหรือเอก ด้วยการสมัครผ่านต้นสังกัด เปิดรับสมัครระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ปีละ 2-3 ทุน คุณสมบัติ คือ เป็นอาจารย์ที่มีผลการเรียนดี มีคะแนน TOEFL ไม่ต่ำกว่า 213 ด้วยการสอบระบบคอมพิวเตอร์ หรือ 80 ขึ้นไป ด้วยการสอบระบบ iBT
-
ทุนอบรมดูงาน (Hubert H. Humphrey Fellowship Program) เป็นทุนที่มิใช่เพื่อทำปริญญา โดยเป็นทุนอบรมดูงานในสาขาที่เกี่ยวกับการวางแผนและนโยบายด้านต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร เศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร การศึกษาการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การสาธารณสุขโภชนาการ การเกษตร การป้องกันการใช้ยาเสพติด รัฐประศาสนศาสตร์ กฎหมายและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ต้องเข้าศึกษาในบางรายวิชาที่อเมริกาเป็นเวลา 1 ปี สำหรับผู้บริหารระดับกลางที่มีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี รับสมัครช่วง เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี และแต่ละปีให้ประมาณ 2 ทุน นอกจากอบรมดูงานแล้ว ผู้ที่ได้รับทุนจะได้เข้าศึกษาในบางรายวิชาด้วย ผู้มีสิทธิ์สมัครรับทุนนี้จะต้องเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น
-
ทุนสำหรับอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ (Thai Visiting Scholar Program) สำหรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่ามีประสบการณ์การสอนหรือทำวิจัย 10 ปีขึ้นไป ทุนประเภทนี้ผู้สมัครต้องติดต่อกับสถาบันเอง รับสมัครช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี
-
ทุนทำวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาเอก (Fulbright Junior Research Scholarship Program) ทุนสำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาปริญญาเอก มีผลการเรียนดีและได้รับความเห็นชอบจากต้นสังกัดเพื่อเดินทางไปทำวิจัยในสถาบันการศึกษาที่อเมริกาเป็นเวลา 1 ปี
-
ทุนสำหรับอาจารย์เพื่อไปทำการสอนในสาขาที่กำหนด (Fulbright Scholar-in-Residence Program) ให้ทุนการศึกษาประเภทนี้ปีละ 1 ทุน เปิดรับสมัครอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเพื่อไปทำการสอนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรในสาขาที่กำหนดเป็นระยะเวลา 10 เดือน ในสถาบันเจ้าภาพที่เข้าร่วมโครงการ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดรับสมัครในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
-
ทุนสำหรับอาจารย์เพื่อไปทำการสอนและ/หรือมีส่วนร่วมในการวางหลักสูตร (Study of United States Institute Program) สำหรับอาจารย์ที่ดำเนินการสอนหรือมีส่วนร่วมในการวางหลักสูตรการสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอเมริกันศึกษา ได้แก่ สาขาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา มนุษยศาสตร์ หรือภาษาและวรรณกรรม เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การสอนเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ แบ่งเป็นโครงการย่อย 5 โครงการ ในแต่ละโครงการนั้นจะเน้นวิชาการเฉพาะด้าน ผู้สมัครต้องมีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษเพราะผู้ที่ได้รับทุนต้องเข้าร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ ทุนเปิดรับสมัครเดือนมกราคมของทุกปี
-
ทุนสำหรับอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิที่สนใจทำวิจัยในเรื่องที่กำหนด (Fulbright New Century Scholars Program) เปิดรับสมัครเดือนกรกฎาคม เป็นทุนสำหรับอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อไปทำวิจัยที่มสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับภาวะโลกปัจจุบัน จะต้องเสนอโครงการวิจัยไปยังมูลนิธการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลใบรท์) เพื่อขอรับทุน สำหรับทุนประเภทนี้ผู้ได้รับทุนจะได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนางานวิจัยกับนักวิจัยและนักวิจัยที่มีความโดดเด่นและมีความสามารถจากทั่วโลกปีละ 25-30 ท่าน คุณสมบัติของผู้สมัคร คือ ต้องมีสัญชาติไทย มีความรู้ประสบการณ์การวิจัยในสายงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อโครงการที่กำหนด จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษดีเยี่ยม และต้องมีความสามารถทำวิจัยและเข้าร่วมทุกกิจกรรมได้ในโครงการตลอดระยะเวลาที่รับทุน
-
ทุนแลกเปลี่ยนสำหรับอาจารย์ชาวไทยและอาจารย์ชาวอเมริกัน (Fulbright Administrator Exchange Program) ให้จำนวน 3 ทุน ให้อาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีรามงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ นอกจากการดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือมีประสบการณ์ด้าน บริหารและการสอนอย่างน้อย 3 ปีแล้ว ผู้สมัครจะต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทหรือสูงกว่าในสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้การสมัครทุนฟุลไบรท์จำเป็นต้องใช้ผลสอบ TOEFL เพื่อรับรองระดับความรู้ความสามารถทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษ
รับรู้รายละเอียดทุนฟุลไบรท์และเงื่อนไขการรับทุนในแต่ละปี รวมทั้งข่าวสารต่างๆ จากฟุลไบรท์ทุกระดับขั้นของทุนการศึกษา ได้ที่ http://www.fulbrightthai.org/information/needs/index.asp
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
มูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ที่ตั้ง : เลขที่ 21/5 อาคารไทยวา 1 ชั้น 3 ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์ : 0-2285-0581-2 โทรสาร : 0-2285-0583 E-mail : TUSEF@fulbrightthai.org Website : www.fulbrightthai.org
แหล่งที่มา
www.fulbrightthai.org/data/knowledge/bigful[1].doc
http://campus.sanook.com/education/scholarship/outbound_read_04031.php
........................
|