--------------------------------------------------------------------------------------------------
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering Technician)
บทความจาก : สาระดีดี.คอม

Image courtesy of hywards at FreeDigitalPhotos.net
กลุ่มบุคลิกภาพ : บุคลิกภาพแบบจริงจัง ไม่คิดฝัน นิยมความจริง (Relistic)
ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ จะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง ชอบทำงานกลางแจ้ง กิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อน กิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งของ เช่น เครื่องจักรกล ทักษะทางภาษา ทักษะการสร้าง สัมพันธภาพระหว่างบุคคลมีน้อย มักจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุุคคลหรือไม่ชอบเป็นจุดสนใจของผูุ้อื่น ค่อนข้างมีลักษณะเป็นชายสูง มีค่านิยมทางเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผน
ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความอดทน มีความบากบั่น กล้าแสดงผลงาน ทักษะในการสร้างสัมพันธภาพทางสังคมมีน้อย
การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำน้อย มีทักษะในการสื่อสารน้อย มีสุนทรีน้อย
นิยามอาชีพ
- ทำงานทางเทคนิคภายใต้การแนะนำและควบคุมของวิศวกรเครื่องกล โดยใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลมาใช้ในการออกแบบ การสร้าง การติดตั้ง และการใช้อุปกรณ์ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล รวมทั้งการพัฒนาและทดสอบอออุปกรณ์เครื่องกล
- ใช้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมเครื่องกลขั้นสูงในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน
- ควบคุมช่างหรือพนักงานอื่น ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิต ติดตั้งและใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากวิศวกรเครื่องกล
ลักษณะของงานที่ทำ
อาชีพช่างเทคนิคเครื่องกล ได้จัดระดับงานเป็น 2 ระดับ ดังนี้
- งานระดับช่างฝีมือ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอ่านแบบ เขียนแบบเครื่องกล แบบโครงสร้างผังโรงงาน งานเขียนแบบสั่งงานและกำหนดขนาดงานซ่อม และสร้างชิ้นส่วนเครื่องมือกลตามแบบที่กำหนด โดยการทำงานตั้งแต่การร่างแบบการเจาะ การคว้าน การกลึงการไส การกัด การเจียระไนราบ การเจียระไนกลม การประกอบปรับฟิตชิ้นส่วนเครื่องกลตามคู่มือ ติดตั้ง บำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร ตรวจสอบค้นหาข้อบกพร่องของเครื่องจักรชนิดต่างๆ ซ่อมสร้างชิ้นส่วนที่ชำรุดด้วยเครื่องมือกล
- งานระดับช่างเทคนิค ปฏิบัติงานในลักษณะผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยวิศวกร หรือทำงานภายใต้การแนะนำของวิศวกรเป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบเขียนแบบ การสร้าง หรือซ่อมชิ้นส่วนและเครื่องมือแม่พิมพ์ตัดแม่พิมพ์ขึ้นรูปแม่พิมพ์พลาสติก อุปกรณ์จับยึดอุปกรณ์จับเจาะด้วยวิธีการเจาะ คว้าน กลึง ไส กัด เจียระไนด้วยเครื่องมือกลอัตโนมัติหรือเครื่องมือกลซีเอ็นซี การทำงานในห้องทดลองหรือห้องตรวจสอบวัสดุการวางแผน การวางระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกันและระบบการซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียหาย ตรวจสอบ ค้นหา วิเคราะห์ข้อบกพร่องเครื่องจักรกลชนิดต่างๆ
ผู้ประกอบอาชีพนี้ ปฏิบัติงาน ดังนี้
- ตรวจสอบข้อสั่ง และชี้แจงโครงการ และแบบพิมพ์เขียวเพื่อกำหนดรายละเอียดวิธีดำเนินการ อุปกรณ์ที่ใช้ และปัญหาที่จะทำการทดสอบเกี่ยวกับชิ้นส่วนซึ่งออกแบบใหม่การเปลี่ยนวัสดุหรือชิ้นส่วนหรือการจัดชิ้นส่วนขึ้นใหม่หรือการประกอบย่อย
- เขียนรูปแบบแสดงรายละเอียด หรือเขียนภาพสเก็ตซ์เพื่อกำหนดสัดส่วน
- อำนวยการยกตั้งและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องกลอื่นๆ ซึ่งโดยปกติเป็นเครื่องมือเครื่องจักรขนาดหนักในสถานที่ที่ใช้งาน
- เตรียมฐานสำหรับวางเครื่องจักร โดยใช้เครื่องวัดต่างๆ ตรวจสอบให้แน่ว่าการติดตั้งเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว
- เคลื่อนย้ายเครื่องจักรหรือส่วนของเครื่องจักรด้วยกว้าน ลูกรอก รถบรรทุก และเครื่องทุ่นแรงอื่นๆ
- วางส่วนต่างๆ ตามตำแหน่งและประกอบขึ้นเป็นเครื่องจักร
- วางแนวเพลาของเครื่องจักรหรือระบบการส่งพลังงานอื่นๆ
- ตรวจสอบเครื่องจักรและปรับเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เครื่องจักรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- เปลี่ยนผังของเครื่องจักรและเปลี่ยนเครื่องจักรตามความต้องการ
- ซ่อมเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อให้คงอยู่ในสภาพที่ทำงานได้
- งานเกี่ยวกับการติดตั้งซ่อม บำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยงานควบคุมระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
- งานตรวจสอบค้นหาข้อบกพร่องของเครื่องจักรกล งานถอดประกอบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล
- งานซ่อมสร้างชิ้นส่วนที่ชำรุดเสียหายด้วยการใช้เครื่องมือก
สภาพการจ้างงาน
- ช่างเทคนิคเครื่องกลที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจะได้รับเงินเดือนตามประสบการณ์
- สำหรับงานเอกชนนั้นอัตราเงินเดือนขึ้นอยู่กับความสามารถ ความชำนาญงานและวุฒิการศึกษาของแต่ละบุคคล นอกเหนือจากเงินเดือนและค่าจ้างประจำแล้วอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่นในรูปของสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร โบนัส บำเหน็จ บำนาญ ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุด หรือต้องทำงานล่วงเวลาในกรณีที่ต้องการให้งานติดตั้งหรือซ่อมบำรุงเครื่องจักรเสร็จทันการใช้งาน
- ช่างเทคนิคเครื่องกลสามารถประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับซ่อม และสร้างชิ้นส่วนจักรกลเครื่องมือกลโดยใช้เครื่องมือกลต่างๆ หรือรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ เช่น กรมโยธาธิการ กรมชลประทาน การประปาฯ การไฟฟ้า เป็นต้น
สภาพการทำงาน
- ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำงานทั้งใน และนอกสถานที่ทำงานในการตรวจ ซ่อมและบริการ การดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องจักรในงานอุตสาหกรรม
- สภาพการทำงานหนักปานกลางต้องใช้ความอดทนต่อสภาพความร้อน เสียง กลิ่นของสารเคมี
- ทำความสะอาดอุปกรณ์และบางโอกาสทำงานตามลำพังต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบสูงพอสมควรเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน
- บางครั้งต้องทำงานเกินเวลา
คุณสมบัติผู้ประกอบอาชีพ
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ มีดังนี้
- สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง
- มีร่างกายแข็งแรงสามารถทำงานหนักได้
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบการคิดคำนวณและงานทดลอง
- มีความเป็นผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ดี
- มีความเชื่อมั่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- มีความละเอียดรอบคอบ ชอบการบันทึก
- สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานได้
การเตรียมตัวสำหรับผู้สนใจ
- สำหรับในระดับช่างฝีมือต้องสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างกลโรงงานจากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- ส่วนผู้ที่จะเป็นช่างเทคนิคต้องสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคนิคการผลิต จากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสาขาวิชาช่างกลโรงงานจากสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสาขาวิชาช่างกลโรงงาน (แม่พิมพ์) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
โอกาสในการมีงานทำ
- แนวโน้มสำหรับแหล่งจ้างงานช่างเทคนิคเครื่องจักรกลโดยทั่วไป เช่น สถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้ว่าภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ทำให้การลงทุนเพื่อขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมชะงักไป แต่ความต้องการแรงงานทางด้านช่างเทคนิคเครื่องจักรกลยังคงมีอยู่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยังมีงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ยังมีความต้องการช่างเทคนิคอยู่อีกมากในภาคอุตสาหกรรม เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาจะกลับฟื้นตัวและขยายการลงทุนขึ้นอีก ฉะนั้น งานช่างเทคนิคเครื่องกลก็ยิ่งกลับมาเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีกมากขึ้นตามอัตราการขยายตัวของสถานประกอบ กิจการอุตสาหกรรม
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพช่างเทคนิคที่มีประสบการณ์และความชำนาญ จะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปจนถึงระดับหัวหน้างาน และสำหรับผู้ที่สนใจที่จะศึกษาต่อเพื่อปรับวิทยฐานะให้สูงขึ้นเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไป มีแนวทางในการศึกษาต่อ ดังนี้
- สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ศึกษาต่อ
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมสาขาวิชาช่างเทคนิคการผลิต (งานเครื่องมือกลงานชิ้นส่วนเครื่องจักรกลงานแม่พิมพ์โลหะ งานแม่พิมพ์พลาสติก) ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งทอใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลสาขาวิชาศวกรรมอุตสาหการในสถานศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น
- สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ศึกษาต่อ
- ระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 3 - 3 ปีครึ่ง สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- ระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 2-3 ปี สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการเครื่องมือกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรมการ วัสดุอุตสาหกรรมคณะศาสตร์อุตสาหกรรม ในสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- ระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 - 3 ปี สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกลในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
- ช่างเทคนิคเครื่องยนต์
- วิศวกรเครื่องจักรกล
แหล่งที่มา :
--------------------------------------------------------------------------------------------------
|