--------------------------------------------------------------------------------------------------
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace engineering technician)
บทความจาก : สาระดีดี.คอม

Image courtesy of David Castillo Dominici at FreeDigitalPhotos.net
กลุ่มบุคลิกภาพ : บุคลิกภาพแบบจริงจัง ไม่คิดฝัน นิยมความจริง (Relistic)
ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ จะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง ชอบทำงานกลางแจ้ง กิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อน กิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งของ เช่น เครื่องจักรกล ทักษะทางภาษา ทักษะการสร้าง สัมพันธภาพระหว่างบุคคลมีน้อย มักจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุุคคลหรือไม่ชอบเป็นจุดสนใจของผูุ้อื่น ค่อนข้างมีลักษณะเป็นชายสูง มีค่านิยมทางเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผน
ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความอดทน มีความบากบั่น กล้าแสดงผลงาน ทักษะในการสร้างสัมพันธภาพทางสังคมมีน้อย
การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำน้อย มีทักษะในการสื่อสารน้อย มีสุนทรีน้อย
นิยามอาชีพ
- ทำงานทางเทคนิคภายใต้การแนะนำและควบคุมของวิศวกรเครื่องกล (อากาศยาน) โดยนำเทคนิคและวิศวกรรมเครื่องกลมาใช้ในงานซ่อมบำรุงเครื่องมือเล็กทรอนิกส์ทางการบิน
- งานซ่อมบำรุงอากาศยานเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอาศัยหลักการและกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์
- บำรุงรักษาและตรวจซ่อมอากาศยาน เช่น ลำตัว โครงสร้างและ/หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอากาศในลักษณะต่าง เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการบิน
- วิเคราะห์ ร่างแบบและควบคุมการตรวจซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์การบินและตัวอากาศยาน
- ประเมินความเสียหาย ประเมินผลงานและการเขียนบันทึกรายงาน รายการซ่อมบำรุงอากาศยานตลอดจนสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในงานด้านอากาศยาน
- ปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากวิศวกรเครื่องกล (อากาศยาน)
ลักษณะของงานที่ทำ
- ตรวจซ่อมแก้ไขข้อขัดข้อง อากาศยาน และตรวจซ่อมตามกำหนดระยะเวลาเตรียมอากาศยานให้พร้อมทุกระบบ (เครื่องยนต์ ลำตัว และไฮดรอลิกส์ ไฟฟ้า) ก่อนส่งอากาศยานขึ้นบิน หรือในการฝึกอบรมดูแลรักษาการใช้เครื่องมือกลพิเศษ (Special Tools) ทุกชนิดที่ใช้เฉพาะกับอากาศยานแบบที่ตนรับผิดชอบใช้ และบำรุงรักษาเครื่องมือ และอุปกรณ์ภาคพื้นดินติดตาม และแก้ไขคู่มือ คำสั่ง คำแนะนำทางด้านช่าง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับอากาศยานในความรับผิดชอบของตนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาดูแลรักษาความสะอาดอากาศยานให้สะอาดอยู่เสมอ ตรวจอุปกรณ์ที่เสีย เพื่อให้ทราบถึงลักษณะและจุดที่เสีย เช่น ใบพัดถังน้ำมัน ล้อ ปีก ระบบไฟฟ้า เป็นต้นซ่อมหรือให้บริการ และซ่อมเครื่องจักรเครื่องยนต์ของอากาศยาน
- ทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไอพ่นเครื่องยนต์ลูกสูบ เครื่องยนต์กังหัน ไอน้ำ หรือเครื่องยนต์ประเภทอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ความรู้เป็นพิเศษถอดอุปกรณ์ออกทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนเพื่อเอาส่วนที่เสีย หรือชำรุดออกซ่อมชิ้นส่วน หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือช่วยในการประกอบตามความจำเป็นเพื่อให้การประกอบชิ้นส่วนเป็นไปอย่างถูกต้องทดสอบอุปกรณ์ที่ประกอบใหม่ และปรับตามความจำเป็น ตรวจสอบ ปรับ และหยอดน้ำมันหล่อลื่นอุปกรณ์เป็นครั้งคราว หรือสั่งให้ผู้ช่วยทำงานดังกล่าว
- ตลอดจนทำงานอื่นๆที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาเครื่องกลอากาศยานให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี อาจเชื่อมประสานและบัดกรีส่วนต่างๆ อาจตรวจตราอากาศยานที่จอดอยู่ เพื่อตรวจสอบและแก้ไขเครื่องจักรกลที่ชำรุดเสียหายตรวจสอบเครื่องยนต์ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนทำการบินให้บริการและซ่อมอากาศยานในขณะกำลังบิน
- แนะนำนักบินเกี่ยวกับเครื่องยนต์คอยตรวจดูเครื่องวัดมิเตอร์และเครื่องมือประกอบการบินอย่างอื่น เพื่อกันความผิดพลาดทางเทคนิค ตรวจข้อขัดข้องของเครื่องยนต์ และทำงานซ่อมด่วนและซ่อมเล็กน้อย พร้อมทั้งแจ้งนักบินทราบถึงข้อขัดข้องต่างๆ บันทึกรายงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์และการปฏิบัติงานของอากาศยาน ตลอดจนข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นและการซ่อมแซมในระหว่างทำการบิน
สภาพการจ้างงาน
- ผู้ประกอบอาชีพช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน ที่ทำงานในภาครัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัทการบินไทยจำกัดมหาชนหรือภาคเอกชน เช่น บริษัทบางกอกแอร์เวย์ ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาและอาจมีค่าวิชาเพิ่มให้สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์
- สำหรับผู้ที่สำเร็จปริญญาตรี หรืออนุปริญญาจากหลักสูตรช่างอากาศยานและเครื่องยนต์ (Aircraft Maintenance) จากสถาบันการบินพลเรือนจะได้รับเงินเดือนตามประสบการณ์ในการทำงาน ส่วนโบนัสขึ้นอยู่กับผลประกอบการ
- ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้โดยปกติปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่บางหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องมีช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะต้องทำงานเป็นกะโดยทำงานกะละ 8 ชั่วโมง ผู้ที่ทำงานในกะดึก คือรอบที่สามอาจจะได้รับค่าจ้างพิเศษ ในการทำงานอาจมีการหมุนเวียนกันปฏิบัติงานตามรอบของกะและอาจต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุดอื่นๆ ด้วย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะได้รับค่าจ้างพิเศษในการทำงานวันหยุด
สภาพการทำงาน
- ผู้ประกอบอาชีพนี้ปฏิบัติงานเหมือนช่างทั่วไปเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงที่ต้องกระทำตามแผนเป็นส่วนใหญ่แต่ในบางโอกาสอาจต้องทำงานนอกแผน เนื่องจากอากาศยานมีข้อขัดข้องก่อนครบกำหนดเวลาเข้ารับการซ่อมบำรุงตามแผน ดังนั้นงานช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจึงต้องเป็นผู้ที่มีความคล่องตัวสามารถปฏิบัติงานได้ทุกเวลาและอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดเตรียมอากาศยานให้พร้อมทำการบินได้ตามกำหนดเวลางานช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน เป็นงานหนักที่ท้าทายกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งที่ต้องการทักษะค่อนข้างสูงในการวิเคราะห์ปัญหา มีความละเอียดรอบคอบ เปื้อนสกปรก ร้อน บางครั้งต้องทำงานใต้ท้องเครื่องอากาศยาน อาจต้องทำงานในที่แคบๆ ใช้มือ และอุปกรณ์เครื่องมือทางการช่างช่วยในการทำงาน
- นอกจากการทำงานติดตั้ง และซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลอากาศยานในภาคพื้นดิน โดยการตรวจสอบเครื่องยนต์ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อยพร้อมที่จะทำการบิน และในการบินบางครั้งต้องมีช่างเทคนิคอากาศยาน และเครื่องยนต์ที่ต้องให้บริการ และซ่อมอากาศยานในขณะกำลังบินในกรณีมีปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องโดยผู้ที่ทำหน้าที่นี้ต้องมี ใบอนุญาตในการประกอบอาชีพช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน
- ผู้ประกอบอาชีพนี้ในระดับปฏิบัติงานจะทำงานในบริเวณสนามบิน ซึ่งต้องมีช่างเทคนิคอากาศยานและเครื่องยนต์ประจำทุกสนามบินทั่วประเทศ บางครั้งอาจต้องปฏิบัติหน้าที่ในสนามบินในต่างจังหวัด
คุณสมบัติผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยานต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ได้รับอนุปริญญาในหลักสูตรวิชาบำรุงรักษาอากาศยาน ( Aircraft Maintenance) หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งสามารถสอบขอรับใบอนุญาตในการประกอบอาชีพพิเศษนี้เพื่อปรับเพิ่มค่าวิชาชีพได้
- ภาษาติดต่อสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี สนใจ และศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และไม่ตาบอดสี
- เป็นเพศชายเนื่องจากงานช่างต้องปีนตรวจซ่อมเครื่องอากาศยานและทำงานช่างที่อาจจะต้องทำงานยกของหนักและอันตราย จึงไม่เหมาะสำหรับเพศหญิง
- มีความอดทน มีปฏิภาณไหวพริบดี มีสำนึกในความปลอดภัย และการตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้รวดเร็วมีความสามารถในการติดต่อ ประสานงาน และมีมนุษยสัมพันธ์ดี
- มีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย มีความกล้าหาญ สามารถ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว มีความมั่นใจใน ตนเอง ละเอียดรอบคอบ มีความจำดี ช่างสังเกต
- ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกตำแหน่งหากไม่ได้รับการอบรมในเทคนิคการซ่อม บำรุงเครื่องจักรกลอากาศยาน จะถูกส่งเข้าศึกษาต่อหลักสูตรวิชาบำรุงรักษา อากาศยาน (Aircraft Maintenance) ในสถาบันที่ทางราชการรับรอง เช่น สถาบันการบินพลเรือน เป็นต้น โดยใช้ระยะเวลาอบรมประมาณ 67 สัปดาห์ ซึ่งต้องศึกษาหลักสูตรเทคนิคการบินภาคภาษาอังกฤษ (Aviation Technical English Course) ใช้เวลา 20 สัปดาห์และหลักสูตรการบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft Maintenance) เป็นเวลา 2 ปี
การเตรียมตัวสำหรับผู้สนใจ
- ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าสามารถสมัครเข้าสอบคัดเลือกเข้าสถาบันการบินพลเรือน และเลือกศึกษาในหลักสูตรการบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft Maintenance) ใช้เวลาศึกษา 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับอนุปริญญาบัตรและได้รับใบอนุญาตในการประกอบอาชีพช่างซ่อมอากาศยานและเครื่องยนต์เพื่อปรับค่าวิชาชีพสามารถสมัครงานประกอบอาชีพ ช่างเทคนิคอากาศยาน และเครื่องยนต์ได้
โอกาสในการมีงานทำ
- อาชีพช่างเทคนิคอากาศยาน และเครื่องยนต์จัดเป็นอาชีพที่ขาดแคลนอาชีพหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรพิเศษ ซึ่งสามารถผลิตได้ครั้งละไม่มาก และค่าใช้จ่ายในการศึกษาค่อนข้างสูง แต่เมื่อสำเร็จการอบรมแล้วต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการรับสมัครงานจึงสามารถเข้าปฏิบัติงานได้
- อาชีพนี้ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานและจัดได้ว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงอาชีพหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวุฒิอนุปริญญาหรือวุฒิปริญญาตรีทั่วไป
- ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนี้ควรที่จะมีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอสมควร สามารถทำคะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้ดี
- อาชีพช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยานนี้นอกจากทำงานในบริษัทสาย การบินทั่วไปแล้วยังสามารถทำงานในบริษัทเอกชนที่นำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับอากาศยานได้ หากมีประสบการณ์และมีความชำนาญ
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
- ช่างเทคนิคอากาศยาน และเครื่องยนต์ที่ปฏิบัติงานมานานจนมีความชำนาญและหากได้รับการอบรมในหลักสูตรวิชาชีพชั้นสูงขึ้นไป จะสามารถเลื่อนขั้นไปจนถึงตำแหน่งหัวหน้า
- หากมีความสามารถในการบริหาร และมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขสามารถได้เลื่อนขึ้นจนถึงตำแหน่งสูงสุด คือ ผู้บริหารขององค์กรในสายงานปฏิบัติการ
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
- ช่างซ่อมบำรุงเครื่องมือสื่อสารการบิน
- ช่างซ่อมบำรุงรักษาเครื่องวัดประกอบการบิน
แหล่งที่มา :
--------------------------------------------------------------------------------------------------
|